เลือกภาษา

5/5

Open

House

เปิดให้ลงทะเบียนแล้ว
24 เมษายน 2567

Open House
เปิดให้ลงทะเบียนแล้ว 20 มีนาคม 2567
ผู้ปกครองควรรู้! 4 วิธีสอนลูกเมื่อต้องเจอการบูลลี่ (Bully) ในโรงเรียน

ผู้ปกครองควรรู้! 4 วิธีสอนลูกเมื่อต้องเจอการบูลลี่ (Bully) ในโรงเรียน

แนะวิธีรับมือการบูลลี่ในเด็ก ที่ผู้ปกครองควรรู้

ปัจจุบันเรามักได้ยินคำว่า “การบูลลี่” หรือ “การกลั่นแกล้ง” กันมากขึ้น ซึ่งการบูลลี่ กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน ที่ทำงาน รวมไปถึงบนโลกออนไลน์ ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในเด็กวัยเรียน ที่บางคนอาจจะมองว่าการแกล้งกันในหมู่เพื่อน ๆ เป็นเรื่องปกติ เป็นการหยอกล้อเพื่อความสนุกสนาน ตลกขำขัน แต่การแกล้งนั้นจะไม่ใช่เรื่องปกติอีกต่อไป หากว่าฝ่ายที่ถูกแกล้งหรือโดนล้อ รู้สึกถึงการถูกคุกคาม เกิดความหวาดกลัวต่อสังคมรอบข้าง และอาจสะสมเป็นปัญหาสุขภาพจิตระยะยาวต่อการใช้ชีวิตในอนาคตของเด็กได้

บทความนี้ได้รวบรวมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการบูลลี่ ว่าแท้จริงแล้วคืออะไร ? พฤติกรรมแบบไหนเรียกว่าการบูลลี่ พร้อมทั้งแนะวิธีรับมือการบูลลี่ในเด็กที่ผู้ปกครองควรรู้ เพื่อรับมือและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับบุตรหลาน ให้พร้อมที่จะเติบโตและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

การกลั่นแกล้ง หรือการบูลลี่ (Bullying) คืออะไร?

การกลั่นแกล้ง หรือการบูลลี่ (Bullying) คือการกระทำรุนแรงต่อผู้อื่นทางร่างกายหรือวาจา ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบในเชิงลบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำ ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบต่อตัวผู้กระทำอีกด้วย  

การกลั่นแกล้งนั้นเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ทั้งการใช้กำลังทำร้ายร่างกาย การทำให้อีกฝ่ายอับอาย การบังคับให้อีกฝ่ายทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ การกระจายข่าวลือเสียหาย โดยการกลั่นแกล้งนี้มักจะเกิดขึ้นซ้ำๆ นับว่าเป็นพฤติกรรมที่สร้างความกระทบกระเทือนทางจิตใจของผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาวได้

ข้อมูลกรมสุขภาพจิตไทย แสดงให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของพฤติกรรมการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นกับเด็กในวัยเรียนที่เพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยพบว่าเด็กนักเรียนโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนมากถึง 600,000 คน จึงทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลก รองจากแค่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น นอกจากนี้พฤติกรรมการกลั่นแกล้งเชิงบูลลี่นี้ก็เปลี่ยนรูปแบบไปจากอดีต เช่น การล้อเลียนชื่อพ่อแม่หรือปมด้อยของเพื่อน การไม่ให้เข้าร่วมกลุ่มทำกิจกรรม หรือการทำร้ายร่างกาย ไปเป็นการใช้ social media บนโลกออนไลน์แทน สำหรับในประเทศไทย พบว่ากลุ่มเด็กเยาวชนมีพฤติกรรมคุกคาม กลั่นแกล้งเชิงบูลลี่ผู้อื่นผ่านสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ มากถึง 50% (อ้างอิงข้อมูลจาก มูลนิธิยุวพัฒน์)

การกระทำแบบไหนเข้าข่าย “การบูลลี่” ?

พฤติกรรมการกลั่นแกล้งที่ต้องการให้ผู้อื่นรู้สึกอับอาย ด้อยค่า เสื่อมเสีย หรือเจ็บตัว เหล่านี้ล้วนเป็น “การบูลลี่” ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น

1. การกลั่นแกล้งทางร่างกาย

การทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยการตี ต่อย เตะ หยิก หรือผลัก ส่งผลให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงการถ่มน้ำลายใส่ผู้อื่น หรือแม้กระทั่งการทำลายข้าวของส่วนตัวของผู้อื่นเสียหาย

2. การกลั่นแกล้งทางวาจา

ทั้งการเปล่งวาจา หรือการเขียน  เช่น กาารยุแหย่  เรียกชื่อ (ทั้งแบบหยาบคาย ล้อเลียนชื่อหรือปมด้อยของผู้อื่น) การพูดถึงเรื่องเพศอย่างไม่เหมาะสม การเยาะเย้ย หรือ​การข่มขู่

3. การกลั่นแกล้งทางสังคม

ไม่ว่าจะเป็นการทำให้บุคคลอื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง การแพร่กระจายข่าวลือที่เสียหาย ทำลายความสัมพันธ์ของผู้อื่น การกีดกันเพื่อนออกจากกลุ่ม ห้ามไม่ให้เพื่อนคนอื่นมาคบ หรือการทำให้คนอื่นอับอายต่อหน้าคนหมู่มาก

4. การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมากในสังคมที่เทคโนโลยี เข้ามามีบทบาท โดย social media ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งผู้อื่นบนโลกออนไลน์ที่มีอิทธิพลอย่างมากในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะเด็กเยาวชนในวัยเรียน

ทำไมเด็กถึงเก็บเรื่องการบูลลี่ไว้เป็นความลับ?

การที่เด็กถูกบูลลี่นั้นส่งผลกระทบทางจิตใจเป็นอย่างมาก เมื่อเด็กถูกรังแกมักจะพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยตัวเอง เด็กบางคนรู้สึกว่าการที่บอกพ่อแม่อาจจะทำให้เค้าถูกมองว่าอ่อนแอและกังวลว่าพ่อแม่จะตอบสนองต่อสิ่งนั้นอย่างไร เพราะทราบว่าหากพ่อแม่รู้จะติดต่อโรงเรียนและทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่ในที่สุด และเด็กกลัวว่าจะถูกตัดสินด้วยความรุนแรงและไม่เข้าใจ 

ในขณะที่เด็กที่รังแกคนอื่น ตรงกันข้ามจะรู้สึกว่าตนเองจะอับอายถ้าพ่อแม่ของตัวจับได้ว่าทำผิด เด็กที่รังแกคนอื่นบางรายรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจเค้าในสิ่งที่เค้าต้องเจอจึงนำความโกรธเกรี้ยวที่ตนได้รับนั้นไปลงที่เด็กคนอื่นที่ดูเหมือนจะอ่อนแอกว่าเค้า 

ดังนั้นหากพ่อแม่ และโรงเรียนทำความเข้าใจและจัดการปัญหาอย่างนุ่มนวลและเหมาะสมทั้งกับเด็กที่ถูกรังแกและเด็กที่รังแกผู้อื่นจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้

ผู้ปกครองจะป้องกันไม่ให้ลูกถูกบูลลี่อย่างไร ?

ผู้ปกครองควรจะมีความเข้าใจเสมอว่าในเรื่องราวเดียวกันอาจจะมีความจริงหลากหลายแง่มุม หากคุณพบว่าลูกของคุณกำลังถูกกลั่นแกล้ง ทางออกที่ดีที่สุดคือควรมีสติและหาข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคุณครูและลูกของเราเองเพื่อฟังความจริงในอีกหลาย ๆ แง่มุม 

ทางโรงเรียน D-PREP จึงอยากแนะนำวิธีที่ผู้ปกครองสามารถป้องกันไม่ให้ลูกถูกบูลลี่ทั้งหมด 6 ข้อด้วยกัน

1. สังเกต

พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของลูก ไม่ว่าจะเป็นความอยากอาหารลดลง, ไม่อยากพบป่ะใคร หรือมีบาดแผลใหม่ที่ไม่รู้ที่มาที่ไป หากสงสัยว่าลูกจะรังแกผู้อื่น ควรสังเกตสัญญานของความก้าวร้าว เงินและสิ่งของใหม่ ๆ ที่ไม่มีที่มาที่ไป

2. พูดคุยกับลูก

การหมั่นพูดคุยกับลูกและการแสดงความเห็นอกเห็นใจเป็นอีกหนึ่งในวิธีที่จะสามารถเข้าไปถึงใจลูกให้เค้าเปิดอกพูดคุยถึงปัญหาที่มีอยู่ในใจได้เป็นอย่างดี การที่ทำให้ลูกรู้สึกสบายใจและปลอดภัยเมื่อได้พูดคุยกับพ่อแม่นั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการคอยสังเกตสัญญาณของการบูลลี่ นอกจากนี้การหมั่นคอยพูดคุยกับลูกเสมออาจช่วยให้ความขัดแย้งหรือสถานการณ์ที่เลวร้ายต่าง ๆ ของลูกในโรงเรียนนั้นดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรถามคำถามที่กระทบกระเทือนจิตใจของเด็กที่ถูกรังแก ตัวอย่างเช่น “เพื่อนคนนี้รังแกลูกอย่างไร?” แต่ควรถามว่า “มีอะไรเกิดขึ้นที่โรงเรียนที่ทำให้ลูกไม่สบายใจหรือไม่?” หรือถ้าหากลูกบอกกล่าวเรื่องที่ถูกรังแกแล้วผู้ปกครองสามารถถามต่อโดยใช้คำถามทั่วไปและพยายามไม่ใช้อคติอย่างเช่น “ลูกเล่าให้แม่ฟังเพิ่มเติมได้มั้ยคะ มีอะไรมากกว่านี้อีกมั้ย แม่รับฟังลูกเสมอ”

3. ตอบสนองลูกด้วยสติ

ในบางครั้งลูกอาจจะเอาเรื่องที่น่าตกใจมาเล่า แต่การที่พ่อแม่นั้นตั้งสติและตอบสนองต่อสิ่งที่ได้ยินอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและกล้าเปิดเผยเรื่องราวหรือบอกความลับต่าง ๆ มากขึ้น หากพ่อแม่ตอบสนองอย่างตรงกันข้ามด้วยความกลัวหรือตกใจจะขู่แจ้งโรงเรียนก็อาจจะทำให้ลูกไม่กล้าที่จะพูด

4. ไม่กดดันลูก

ไม่กดดันลูกให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบ โดยเฉพาะทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ แต่เป็นสิ่งที่ลูกไม่รู้สึกสบายใจเมื่อทำมัน สถานการณ์เหล่านี้จะนำพาให้ลูกเข้าไปอยู่ในสังคมที่เค้าไม่สบายใจ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีความสุข และอาจจะทำให้เกิดปัญหาในที่สุด

5. สอนลูกว่าการถูกรังแกคืออะไรและทำไมถึงเกิด

การที่ลูกได้ประสบพบเจอกับการกลั่นแกล้งในโรงเรียน แม้ว่าลูกจะไม่ถูกกระทำโดยตรง แต่ผลที่ได้รับย่อมส่งผลกระทบถึงสภาพจิตใจของลูกเสมอ การช่วยเหลือลูกในเรื่องนี้ที่พ่อแม่สามารถทำได้ก็คือ การตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาเมื่อลูกเกิดข้อสงสัย สอนลูกให้ระวังเกี่ยวกับการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน และพูดให้ฟังว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงต้องบูลลี่คนอื่น, การรังแกคนอื่นเป็นสิ่งที่ไม่ดี และสังคมไม่ยอมรับ

6. พูดคุยกับคุณครูที่โรงเรียน

การเข้าไปพูดคุยกับคุณครูในชั้นเรียน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นครอบครัวที่สองของลูกนั้นเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยสนับสนุนลูกในชั้นเรียนมากขึ้น โดยคุณครูจะสามารถคอยช่วยเหลือ, ให้คำปรึกษา คอยสังเกตและควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกและเพื่อนร่วมชั้นได้เป็นอย่างดี

แนะวิธีรับมือและแก้ปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียน

วิธีรับมือและแก้ปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุก ๆ ภาคส่วน ซึ่งได้แก่ เด็กนักเรียน ผู้ปกครอง คุณครู และโรงเรียน ดังนี้

1. ปลูกฝังทัศนคติการเข้าสังคมที่ดี เริ่มต้นที่บ้านและโรงเรียน

ผู้ปกครองและคุณครูที่โรงเรียนช่วยกันปลูกฝังค่านิยมการเข้าสังคมที่ดีผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยสอนให้เด็กปฎิบัติต่อทุกคนรอบข้างด้วยความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน พร้อมสอนให้เด็กรู้จักวิธีรับมือกับความคิดของตัวเองว่าเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่ากำลังคิดที่จะแกล้งผู้อื่น ให้หากิจกรรมอื่น ๆ ทำแทน เช่น อ่านหนังสือ เล่นเกมส์  หรือปรึกษาผู้ปกครองหรือคุณครูที่ไว้วางใจ 

พร้อมสอนให้เด็กเข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ สีผิว รูปร่าง ความสามารถต่าง ๆ และสอนให้เด็กรู้จักขอโทษผู้อื่น หากรู้สึกว่าเคยกลั่นแกล้งทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ฝึกให้เด็กกล่าวคำขอโทษและแสดงออกด้วยความจริงใจกับอีกฝ่ายเสมอ

2. ปลูกฝังให้เคารพซึ่งกันและกัน มีจิตใจที่เอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น

ที่โรงเรียนนานาชาติ D-PREP ได้สอดแทรกหลักสูตรที่สอนให้เด็ก ๆ ได้รวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือและปกป้องจุนเจือกันภายใต้แคมเปญ “Stand up for others” เช่นในโครงการ World Kindness Day ที่ D-PREP ได้มุ่งเน้นและให้ความสำคัญในเรื่องการปลูกฝังสุขภาพจิตใจ การเคารพซึ่งกันและกัน และการมีจิตใจเอื้อเฟื่อต่อผู้อื่น 

ไม่ว่าจะเป็นการสอนให้เด็ก ๆ เห็นใจและคอยช่วยเหลือเด็กที่ถูกรังแก เช่น ชวนมาเล่นด้วยกัน หรือชวนพูดคุยเพื่อทำให้เด็กที่ถูกรังแกไม่รู้สึกโดดเดี่ยว คอยให้คำปรึกษาและปลอบประโลมจิตใจให้รู้สึกดึขึ้น หรือลุกขึ้นปกป้องในขณะที่ถูกรังแก นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้รวมกลุ่มกันระดมความคิดเสนอวิธีป้องกันการถูกกลั่นแกล้ง รวมถึงวิธีช่วยเหลือเมื่อพบเห็นเพื่อนถูกกลั่นแกล้ง

3. สอนให้รับมือ เมื่อโดนเพื่อนรังแก

สอนวิธีรับมือเมื่อเจอสถานการณ์ที่โดนเพื่อนรังแก เช่น บอกเพื่อนที่แกล้งไปตรง ๆ ว่าไม่ชอบ รู้สึกเจ็บ หรือรู้สึกแย่กับการกระทำนั้น ให้เพื่อนที่แกล้งหยุดการกระทำนั้นทันทีด้วยน้ำเสียงที่มั่นคงและเด็ดขาด

หากเพื่อนที่แกล้งไม่หยุดให้เดินหนี เอาตัวเองออกห่างจากสถานที่ที่มักเจอการกลั่นแกล้ง รวมถึงแจ้งผู้ใหญ่หรือคุณครูที่อยู่ใกล้ๆให้ช่วยหยุด หรือจัดการกับการกระทำแย่ๆ เหล่านั้น 

4. สร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อโดนบูลลี่บนโลกออนไลน์ (Cyber Bullying)

ในยุคที่สังคมออนไลน์เป็นสื่อที่เข้าถึงง่าย และเป็นที่นิยมของเด็ก ๆ ที่ใช้ติดต่อสื่อสารกัน ผู้ปกครองและคุณครูควรมีส่วนช่วยในการสอดส่องดูแลและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ห่างไกลจากการโดนบูลลี่บนโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) ได้ เช่น

  • สอนให้เด็กรู้จักวิธีการสื่อสารและเสริมสร้างพฤติกรรมที่ดีบนโลกออนไลน์ ไม่แชร์หรือโพสข้อความใดๆ ที่กระทบต่อจิตใจผู้อื่น 
  • หมั่นพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับโลกออนไลน์ เพื่อให้เด็กรู้สึกเปิดใจ และพร้อมที่จะเข้ามาขอคำปรึกษาได้ทุกเรื่องที่รู้สึกไม่สบายใจ 
  • หมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็ก หากพบสัญญาณที่ผิดปกติ ให้รีบหาวิธีที่จะเข้าช่วยเหลือ เพื่อหาสาเหตุและรีบแก้ปัญหาโดยเร็ว
  • สอนให้เด็กรู้จักวิธีรับมือ หากโดนกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ให้เลี่ยงการตอบโต้ และแนะนำให้นิ่งเงียบ บล๊อกข้อความและผู้ใช้เป็นทางออกที่ดีที่สุด หรือเก็บข้อมูลเป็นหลักฐานต่าง ๆ กรณีที่ถูกบูลลี่อย่างรุนแรง เพื่อแจ้งคุณครูหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน
  • สอนให้เด็กรู้จักวิธีผ่อนคลาย หากโดนกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ เช่น อาจหากิจกรรมอื่นทำแทนเพื่อเบี่ยงเบนความรู้สึกแย่ๆ นั้นให้จางหายหรือทุเลาลงได้ หรือปรึกษากับคนที่ไว้วางใจ เช่น พ่อแม่ คุณครู หรือเพื่อนสนิท เพื่อระบายและหาทางออกร่วมกัน

การกลั่นแกล้งในโรงเรียน ส่งผลกระทบมากกว่าที่คุณคิด

“Bullying can affect everyone – those who are bullied, those who bully, and those who witness bullying”

“การกลั่นแกล้งส่งผลกระทบต่อจิตใจและร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งต่อผู้ถูกกลั่นแกล้ง คนที่กลั่นแกล้ง หรือแม้แต่ผู้ที่พบเห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์นั้น”

ผลกระทบต่อ “ผู้ถูกกลั่นแกล้ง”

  • อาจส่งผลให้การเรียนตกต่ำลง ขาดเรียน หรือไม่อยากไปโรงเรียน 
  • เกิดเป็นปมด้อยและความทรงจำที่ไม่ดีติดไปจนโต
  • มีภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ส่งผลให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว หวาดกลัว เศร้าใจ 
  • รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่ยอมรับ หรือการเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ 
  • อาจรุนแรงมาก กระทั้งนำไปสู่การสูญเสีย

ผลกระทบต่อ “คนที่กลั่นแกล้ง”

  • เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น หากไม่ได้รับการอบรมที่ถูกต้อง
  • เป็นสาเหตุของการก่ออาชญากรรมและความรุนแรงในอนาคต 
  • เสียประวัติการเรียนเนื่องจากมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม 
  • ขาดการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เห็นแก่ตัว และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีคุณภาพต่อสังคม

ผลกระทบต่อ “ผู้เห็นเหตุการณ์”

  • บ่มเพาะความรู้สึกตึงเครียด เกิดความวิตกกังวลเนื่องจากเห็นใจผู้อื่น อยากช่วยเหลือแต่ก็กลัวไม่รู้จะทำอย่างไร 
  • ในทางกลับกันเกิดความรู้สึกเพิกเฉยเพราะคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง 
  • การกระทำและพฤติกรรมที่เด็กได้เห็นจากการรังแกกันล้วนส่งผลกระทบต่อพื้นฐานทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคมและพฤติกรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โรงเรียนนานาชาติ D-PREP รับมือกับปัญการบูลลี่ในโรงเรียนอย่างไร?

ที่ D-PREP เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเด็กนักเรียนไม่ควรที่จะต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่รุนแรง คุณครูและบุคลากรของเราใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถในการเฝ้าระวัง, คอยสังเกต และควบคุมดูแลเด็กนักเรียนทุกคนไม่ให้เกิดเหตุการณ์รังแกกันขึ้น และเรานั้นเข้าใจดีว่าเด็กนักเรียนแต่ละคนมีความแตกต่างทั้งในเรื่องของอารมณ์ และการจัดการปัญหา รวมไปถึงมีวิธีที่แตกต่างกันในการสอนให้รู้จักการควบคุมอารมณ์ 

หากคุณครูสังเกตเห็นการกลั่นแกล้งที่กำลังเกิดในชั้นเรียน คุณครูสามารถเข้าไปแทรกแซงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยค่อย ๆ พูดจากับทั้งสองฝ่ายเพื่อหาสาเหตุและรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อที่จะสามารถยุติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสามารถนำข้อมูลนั้นไปส่งต่อให้แก่ผู้ปกครองของทั้งสองฝ่ายต่อไป หากคุณครูไม่สามารถแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้คุณครูจะทำการติดต่อขอความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาและผู้บังคับบัญชาของโรงเรียนต่อไป

เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันการกลั่นแกล้ง ในโรงเรียนโดย D-PREP ใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคุณครู, คุณครูที่ปรึกษา, นักเรียน, บุคลากรอื่น ๆ รวมไปถึงมีความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองในการเฝ้าระวัง สอดส่องและคอยให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียนที่ประสบปัญหานี้ 

รวมไปถึงมีคุณครูที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำและช่วยเหลือตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในโรงเรียนเพื่อให้มั่นใจว่าบุตรหลานที่รักของท่านจะได้รับการโอบอุ้ม คุ้มครองและได้รับความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจอย่างเต็มที่จากสังคม D-PREP ของเรา เพื่อการเติบโตทั้งทางอารมณ์และวิชาการอย่างยั่งยืน

บทสรุป

การรับมือและแก้ปัญหาการกลั่นแกล้ง หรือการบูลลี่กันในโรงเรียนนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง คุณครู และโรงเรียน ควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทาง D-PREP เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปลูกฝังทางด้านจิตใจ จึงเน้นย้ำการเรียนการสอนผ่านทักษะการใช้ชีวิต หรือ life skill เพื่อให้เด็กนักเรียนทุกคนมีความเข้าใจในตนเอง ความเห็นอกเห็นใจต่อสังคมรอบข้าง การเคารพซึ่งกันและกันเพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็งควบคู่ไปกับการมีจิตใจที่อ่อนโยน พร้อมสร้างสังคมที่ดีและน่าอยู่ต่อไป 

บทความแนะนำ

หลักสูตรของเราจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการเติบโตด้านบุคลิกภาพของลูกคุณได้อย่างไร?
นัดขอคำปรึกษาได้แล้ววันนี้
หมดกังวลเรื่องหลักสูตร! นัดรับคำปรึกษาฟรีกับผู้เชี่ยวชาญของเรา เพื่อคลายข้อสงสัยในทุกมิติ คุณจะได้ค้นพบว่า โปรแกรมของเราตอบโจทย์ความต้องการ และสไตล์การเรียนรู้ที่เฉพาะตัวของลูกคุณอย่างไร สำรองที่นั่งเพื่อทัวร์โรงเรียน หรือทดลองเรียน ฟรี!

หากท่านสนใจเข้าเยี่ยมชมโรงเรียนสามารถติดต่อได้ที่

Address :
D-PREP International School
38, 38/1-3, 39, Moo 6,
Bangna Trad Rd., Km. 8,
Bang Kaeo, Bang Phli District,
Samut Prakan, Thailand 10540

Email: admissions@dprep.ac.th
เบอร์ติดต่อ: 095-879-4944
Website : www.dprep.ac.th
Facebook: D-PREP International School
Line: @d-prep
IG : @dprepschool

Related Blog

5 วิธีช่วยพัฒนาให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ความเห็นอกเห็นใจเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญในการพัฒนาทางสังคมและอารมณ์ของเด็ก ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นและความเป็นอยู่โดยรวม โดยทำให้พวกเขาฝึกความเข้าใจและแบ่งปันความรู้สึกของผู้อื่น

วิธีเลือก Career path ที่เหมาะสมให้กับลูก

พ่อแม่ทุกคนปรารถนาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก และการชี้นำพวกเขาไปสู่เส้นทางอาชีพ หรือ career path ที่ถูกต้องถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตของพวกเขา เส้นทางอาชีพเป็นตัวกำหนดชีวิตของเด็ก และในฐานะผู้ปกครอง คุณมีบทบาทสำคัญในการปรับชีวิตให้สอดคล้องกับความหลงใหลและความสามารถของพวกเขา
critical thinking skills in kids

วิธีพัฒนาทักษะ Critical thinking ของลูก

เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการเรียนรู้และประสบความสำเร็จในอนาคต ความฝึกฝน Critical thinking เป็นสิ่งสำคัญ โดยทักษะนี้จะช่วยให้เด็กสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยวางรากฐานที่แข็งแรงของ lifelong learning

Unlock Your Child's Potential: Explore Our Curriculum & Connect with Admissions!

Get one-on-one support & tailored advice: Chat directly with our admissions team who will answer your specific questions about the curriculum and guide you through the enrollment process smoothly.